วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วิธีการเลี้ยงไก่ชน

สายพันธุ์ไก่ชน


      
เหลืองหางขาว
ไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาว



            ประดู่เลาหางขาว 


ไก่ชน ประดู่เลาหางขาว 

         ทองแดงหางดำ
ไก่ชน พันธุ์ ทองแดงหางดำ
                  เขียวหางกา
ไก่ชน พันธุ์เขียวหางดำ หรือ เขียวกา

        เขียวเลาหางขาว

ไก่ชนพันธุ์เขียวเลาหางขาว

                    เทาหางขาว

  ไก่ชนพันธุ์เทาหางขาว

         นกกรดหางดำ

ไก่ชนพันธุ์นกกรดหางดำ                                                        

   
  





เขียวลาวหางขาว

ไก่ชนพันธุ์เขียวเลาหางขาว










วิธีการเลี้ยงไก่สำหรับชน




การเลี้ยงไก่สำหรับชนนั้น มีหลายอย่างหลายชนิดแล้วแต่ครูบาอาจารย์ใดจะสั่งสอนมา แต่ที่จะนำมากล่าวนี้เป็นที่นิยมมากที่สุด ระยะการปล้ำและทำตัวไก่หนุ่ม ไก่หนุ่มที่จะเริ่มเลี้ยงครั้งแรก ต้องลงขมิ้นให้ทั่วทั้งตัวเสียก่อน เพื่อสะดวกในการอาบน้ำ และป้องกันไรได้ดีอีกด้วย
  1. เริ่มอาบน้ำเวลาเช้าทุกวัน ควรใช้ผ้าประคบหน้าทุกครั้งที่มีการอาบน้ำ ลงกระเบื้อง เนื้อตัวบาง ๆ แล้วลงขมิ้นตามเนื้อบาง ๆ แล้วนำไปผึ่งแดด พอรู้ว่าหอบก็นำไก่เข้าร่ม อย่าให้กินน้ำจนกว่าจะหายหอบจึงจะให้กินน้ำได้ไก่ผอมไม่ควรผึ่งแดดให้มากเพราะจะทำให้ผอมมากไปอีก ถ้าอ้วนเกินไปต้องผึ่งแดดให้มากสักหน่อย เพราะจะทำให้น้ำหนักลดลงได้ ควรคุมน้ำหนักทุกครั้งที่มีการซ้อม และการเลี้ยงทุกวันตอนเช้า
  2. อาบน้ำประมาณ 7 วัน แล้วจึงเริ่มซ้อมครั้งแรกสัก 2 ยก ๆ ละไม่เกิน 12 นาที ซ้อมสัก 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ซ้อมยกละ 15 นาที รวมแล้วให้ได้ 6 ยก ระยะการปล้ำแต่ละครั้งควรจะมีเวลาห่างกันประมาณ 10 -15 วันพอครบกำหนดแล้วต้องถ่ายยาตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว

วิธีล่อ

เวลาประมาณบ่าย 2 โมงเย็น เอาน้ำเช็ดตัวไก่ที่เลี้ยงเล็กน้อย แล้วเอาไก่ที่เป็นไก่ล่อ จะเป็นการล่อทางตรงหรือทางอ้อมก็แล้วแต่สะดวก แล้วล่อไก่ให้ย้าย คือเอาไก่ล่อ ๆ วนไปข้างซ้าย 10 รอบ เย้ายวนไปทางขวา 10 รอบ ย้ายจนกว่าไก่ตัวถูกล่อจะไม่ล้มจึงจะใช้ได้ แล้วล่อให้ไก่บินบ้าง ล่อประมาณ 20 - 25 นาทีก็พอ พอเสร็จจากการล่อเอาขนไก่ปั้นคอ พอหายเหนื่อยแล้วอาบน้ำได้ เสร็จแล้วผึ่งแดดให้ขนแห้งแล้วกินอาหารได้

การใช้ขมิ้น

ทุกครั้งเวลาอาบน้ำไก่ในตอนเช้า ต้องใช้กระเบื้องอุ่น ๆ ประคบหน้าพอสมควร ถ้ามากนักจะทำให้หน้าเปื่อย แล้วทาขมิ้นบาง ๆ ทุกครั้ง บางคนใช้ทาเฉพาะหน้าอก ขา ใต้ปีก ตามเนื้อเท่านั้น (ใช้ได้เหมือนกัน)

การปล่อยไก่

ไก่ที่เลี้ยงไว้ชนพอเวลาแดดอ่อนๆควรได้ปล่อยไก่ให้เดินตามสนามหญ้าแพรกนอกจากจะให้ไก่ได้เดินขยายตัวแล้ว ไก่ยังมีโอกาสได้กินหญ้าไปในตัวด้วย วิธีแก้ไขให้น้ำหนักตัวลด เวลาไก่ชนที่เลี้ยงอ้วนเกินไปน้ำหนักตัวจะมากบินไม่ขึ้น ควรผึ่งแดดให้หอบนาน ๆ หากไก่ผอมมากไปไม่ควรให้ถูกแดดมากเกินไป เวลานอนควรให้นอนบนกาบกล้วย หรือเอาน้ำเย็นเช็ดตัวบาง ๆ ก่อนนอน การนอนควรนอนในมุ้งทุกคืนเพื่อมิให้ยุงไปรบกวน ไก่จะได้นอนหลับสบาย การเลี้ยงไก่ถ่าย การเลี้ยงไก่ถ่าย หรือไก่ที่เปลี่ยนขนตั้งแต่หนึ่งครั้งขึ้นไป วิธีเลี้ยงเช่นเดียวกับไก่หนุ่ม ผิดกันตรงที่ไก่ถ่ายต้องปล้ำให้ได้ที่ คือปล้ำครั้งละ 2 ยก ยกละ 15 นาที จำนวน 5 ครั้ง รวม 10 ยก หรือปล้ำจนกว่าจะบินไม่ล้ม แล้วผึ่งแดดให้นานกว่าไก่หนุ่มหน่อย นอกนั้นเหมือนกันหมด

ยาถ่ายไก่

ยาถ่ายโบราณคนนิยมใช้กันมากมีส่วนผสมดังนี้
  1. เกลือประมาณ 1 ช้อนคาว
  2. มะขามเปียก 1 หยิบมือ
  3. ไพลประมาณ 5 แว่น
  4. บอระเพ็ดยาวประมาณ 2 นิ้ว หั่นเป็นแว่นบาง ๆ
  5. น้ำตาลปีบประมาณ 1 ช้อนคาว
  6. ใบจากเผาไฟเอาถ่าน (ใช้ใบจากประมาณ 1 กำวงแหวน) ใช้ครกตำให้ละเอียดเข้า ด้วยกัน เวลาใช้ยาควรให้ไก่กินเวลาเช้าท้องว่าง
ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดหัวแม่มือ 2 เม็ด ให้น้ำกินมาก ๆ หน่อย แล้วครอบผึ่งแดดไว้รอจนกว่ายาจะออกฤทธิ์ ถ่ายเป็นน้ำ 3 ครั้ง ก็พอแล้วเอาข้าวให้กินเพื่อให้ยาหยุดเดิน

น้ำสำหรับอาบไก่

ปกติไก่เลี้ยงจะต้องอาบน้ำยาจนกว่าไก่จะชน เครื่องยาที่ใส่น้ำต้มมีดังนี้
  1. ไพลประมาณ 5 แว่น
  2. ใบส้มป่อยประมาณ 1 กำมือ
  3. ใบตะไคร้ ต้นตะไคร้ 3 ต้น
  4. ใบมะกรูด 5 ใบ
  5. ใบมะนาว 5 ใบ
เอา 5 อย่างมารวมกันใส่หม้อต้มให้เดือดแล้วทิ้งไว้ให้อุ่น พออุ่น ๆ แล้วค่อยอาบน้ำไก่ แล้ว นำไปผึ่งแดดให้ขนแห้ง

ยาบำรุงกำลังไก่

ยาบำรุงที่นิยมกันมากมีหลายขนาน แต่จะยกมาขนานเดียว คือ
  1. ปลาช่อนใหญ่ย่างไฟ แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง 1 ตัว
  2. กระชายหัวแก่ ๆ ประมาณ 2 ขีด (แห้ง)
  3. กระเทียมแห้ง 1 ขีด
  4. พริกไทย 20 เม็ด
  5. บอระเพ็ดแห้ง 1 ขีด
  6. นกกระจอก 7 ตัว
  7. หัวแห้วหมู 1 ขีด
  8. ยาดำพอประมาณ
นกกระจอกนำไปย่างไฟแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปตำให้ป่น ปลาช่อนก็ตำให้ป่น แล้วนำทั้ง 8 อย่างมาผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดพุทราให้กินวันละ1 เม็ดก่อนนอนทุกวันจนกว่าไก่จะชน ยาบางตำราไม่เหมือนกันแต่ได้ผลดีทั้งนั้น แต่ไปแพ้กันตรงที่ไก่เก่งไม่เก่งเท่านั้น ไก่ที่นำไปชนทุกครั้งถ้าไม่ได้ชน กลับมาจะต้องฉะหน้าถอนแข้งทุกครั้ง ๆ ละ 5 นาที 1 ครั้ง ก่อนจะนำไปชนต่ออีก
การใช้น้ำไก่เป็นสิ่งจำเป็นในการชนไก่เป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าท่านให้น้ำไก่ไม่เป็น เอาไก่ไปชนโอกาสแพ้มีมาก มือน้ำเท่านั้นเป็นผู้ชี้ชะตาไก่ของท่าน เพราะฉะนั้นท่านต้องเป็นคนให้น้ำไก่เก่งๆ จึงจะสู้เขาได้ วิธีให้น้ำไก่ก่อนชน ท่านต้องใช้ผ้ามุ้งบาง ๆ ชุบน้ำเช็ดตัวให้ทั่วตัวทุกเส้นขน แต่อย่างให้ปีกเปียก (เพราะปีกเป็นอุปกรณ์สำคัญในการต่อสู้) แล้วเช็ดให้แห้ง ให้กินข้าวสุก จนอิ่มแล้วปล่อยให้เดินเพื่อจะได้ขยายตัว และแต่งตัวเรียบร้อยแล้วนำไก่เข้าชน พอหมดยกที่ 1 เอาผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าอก และใต้ปีกเสียก่อนจึงค่อยเช็ดตามตัวให้ทั่ว แล้วตรวจบาดแผลตามหัว ตามตัวว่ามีผิดปกติหรือเปล่า ตรวจดูตา ตรวจดูปากให้เรียบร้อย ถ้าปากฮ้อ ก็เตรียมผูก ถ้าตาหรี่ก็ควรเสนียดตา หรือถ่างตา เสร็จเรียบร้อยแล้วให้กินข้าวสุกที่บดไว้ ประมาณ 3 - 4 ก้อน แตงกวาแช่น้ำมะพร้าวอ่อน พอให้อิ่มแล้วเอาไก่นอน ๆ ประมาณ 5 นาที หลังจากนอนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เอากระเบื้องอุ่นมาเช็ดตามตัว ตามหน้าแข้ง ขาให้ทั่วบริเวณที่ถูกตี แล้วปล่อยให้เดิน และให้ไก่ถ่ายออกมาเพื่อจะได้ให้ตัวเบา (ยกต่อไปก็ทำเหมือนยกที่ 1 จนกว่าจะแพ้ ชนะกัน)

วิธีรักษาพยาบาลหลังจากไก่ชนแล้ว

ตามปกติไก่ที่ชนมาแล้วจะมีบาดแผลมากน้อยแล้วแต่กำหนดเวลาการต่อสู้ บางตัวก็ชนะเร็ว บางตัวก็ชนะช้าบาดแผลก็มีมาก เวลาชนเสร็จแล้วควรใช้เพนนิซิลิน อย่างเป็นหลอดทาตามหน้าให้ทั่ว เพื่อไม่ให้หน้าตึง อย่าใช้ขมิ้นเป็นอันขาด ถ้าบาดแผลมากจริงควรใช้ยาพวกสเตปโตมัยซิน หรือฉีดยาเทอรามัยซิน หรือจะให้กินยาเต็ดตร้าไซคลินก็ได้ วันละ 1 เม็ด ตอนเย็น ประการสำคัญ อย่าให้ทับตัวเมียเป็นอันขาด หลังจาก 1 เดือนไปแล้วให้ทับได้


ขั้นตอนในการชนไก่

ขั้นตอนในการชนไก่
ก่อนนำไก่ออกจากบ้านเพื่อจะนำไปชนที่สนามกีฬาชนไก่ทุกครั้ง เราต้องบอกเจ้าที่เจ้าทางที่บ้านเจ้าของไก่เสียก่อน เพื่อจะเอาฤกษ์ เอาชัย เอาโชค เอาลาภ จะบนบานสารกล่าวอะไร ก็แล้วแต่เจ้าของไก่จะบอก จะให้เจ้าที่ เจ้าบ้านอะไรนี่ก็เป็นเคล็ดลับอันหนึ่งที่คนโบราณนับถือกันมาตลอด จนถึงปัจจุบันนี้ พออุ้มไก่ออกจากสุ่มแล้วก็หงายสุ่มไว้ ห้ามไม่ให้ใครไปเล่นสุ่มที่หงายไว้เป็นอันขาด คนโบราณถือมาก หงายไว้เพื่อเอาเคล็ด จะได้หาคู่ได้ง่ายบ้าง จะได้ไม่ต้องเอากลับมาเลี้ยงต่ออีกบ้าง เพื่อจะได้ชัยชนะกลับมาบ้าง การนำไก่ออกชนทุกครั้งโบราณว่าไว้ ถ้าหันหน้าออกจากบ้านแล้ว ให้เดินหน้าต่อไปห้ามกลับหลังเด็ดขาด ของใช้ต่าง ๆ เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ต้องตรวจตราให้เรียบร้อย ก่อนออกเดินทางทุกครั้ง นี่ก็เป็นการถือเคล็ดอย่างหนึ่งเหมือนกัน อย่างเช่นนำไก่ออกชน 1 ตัวหรือ 2 ตัว หรือมากกว่านั้นก็เหมือนกัน โบราณก็ถือเช่นกัน คือถ้าไก่ได้ชนทั้ง 2 ตัวในคราวเดียวกัน จะต้องมีชนะ 1 ตัว แพ้ 1 ตัว ลองสังเกตดูเองก็แล้วกัน คนสมัยก่อนถือมากครับ ถ้านำไก่ออกชน 1 ตัว หรือ 2 ตัว ถ้าเปรียบได้คู่ 1 ตัว อีก 1 ตัวเอาไว้ยังไม่เปรียบ ถ้าหากคู่ที่เปรียบไว้ได้ชนแพ้ ก็เอาไก่ตัวที่เหลือมาเปรียบใหม่ถ้าได้คู่มีสิทธิ์ชนะได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราต้องเชื่อคนโบราณไว้บ้าง แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ การเปรียบไก่ทุกครั้งเจ้าของไก่เท่านั้นที่จะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือไก่ ให้ได้เปรียบคู่เข้าไว้เป็นการดี แต่พอมาสมัยใหม่นี้ จะมีซุ้มไก่ดัง ๆ ซุ้มใหญ่ ๆ เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย มีคนเลี้ยงไก่ ซุ้มละหลาย ๆ คน ที่เลี้ยงไก่ออกชนทีละมาก ๆ ตัว เวลาออกชนก็ออกได้ทีละ 4 - 6 ตัว หรืออาจจะมากกว่านั้น เพราะปัจจัยเป็นสิ่งสำคัญในปัจจุบันนี้ การแพ้หรือชนะถือเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว ต่างกับสมัยก่อนมากครับ เพราะฉะนั้นพิธีกรรมต่าง ๆ ในสมัยใหม่นี้จะไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าที่ควร แต่ก็ไม่ควรลืมเสียเลยนะครับควรเชื่อถือเอาไว้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ เพราะเป็นเรื่องสืบถอดกันมาเป็นเวลานานมาก ถ้าไก่ที่เราเปรียบได้คู่แล้วยังรอเวลาชนอยู่ ให้เจ้าของไก่โปรดระมัดระวังให้ดีอย่าให้ใครเข้ามาใกล้ หรือขอจับไก่เป็นอันขาด เพราะเราไม่รู้ว่าฝ่ายตรงข้ามหรือเปล่า เฝ้าไก่ไว้ให้ดีเพื่อป้องกันการถูกวางยาไก่ของเราเอง ต้องหาเชือกมาล้อมไว้เพื่อไม่ให้ใครเข้ามาในบริเวณที่ขังไก่ไว้เด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยของไก่จากการถูกลอบวางยา

กิจกรรม ในขณะที่ชนไก่

ในการนำไก่ออกชนทุกครั้ง เราต้องเตรียมของใช้ในการชนไก่ให้พร้อมเสมอครับ เช่นข้าวปากหม้อ (ข้าวที่เราตักก่อนคนกิน) ตระไคร้ ใบพลู ผ้าสำหรับรมควัน กระเบื้อง เข็ม ด้ายเบอร์ 8 เบอร์ 20 และมีดโกนมีดซอยผม สมุนไพรต่าง ๆ ที่จะนำไปช่วยเหลือไก่ในระหว่างที่ชน เตรียมให้พร้อม การเข้าปากไก่ หรือการคุมปากไก่ ทั้ง 2 อย่างนี้ไม่เหมือนกันนะครับ การคุมปากไก่ก็คือการคุมปากไก่ป้องกันไม่ให้ปากหลุดระหว่างชน (ปากบน) การคุมปากไก่ควรถักให้แน่นพอประมาณ อย่าให้แน่นจนเกินไปจะทำให้ไก่ไม่ตีไก่ ควรถักสัก 4 เปาะ การคุมปากนี้ไม่ต้องใช้เข็มถักก็ได้ แต่ต่างกับการเข้าปากไก่มาก กรณีปากไก่หลุดต้องเข้าใหม่ ต้องเอาสำลีเช็ดเลือดที่ปากให้แห้ง แล้วเอาปากที่เราเตรียมไว้ต่างหากต้มในน้ำร้อนพอประมาณแล้วนำขึ้นมาจุ่มน้ำเย็น เช็ดให้แห้งแล้วนำไปสวมปากแทนปากเดิมที่หลุด แล้วเข้าปากเข้า 4 เปาะ เช่นกัน แต่ต้องดึงด้ายให้ตึงมือมากกว่าคุมปาก เพื่อป้องกันไม่ให้ปากที่สวมไว้หลุดออกระหว่างที่กำลังชนอยู่ พยายามอย่าให้แน่นจนเกินไป ถ้าแน่นเกินไปมากจะทำให้เสียเปรียบคู่ต่อสู้ เราต้องช่วยตัวเราเอง อย่าให้ใครที่มาขอรับอาสาเข้าปากไก่ให้เป็นอันขาด นอกจากพวกของเราเองที่ไว้ใจได้เท่านั้น เพราะพวกที่หวังดีที่จะช่วยคุมปากไก่ หรือคมปากไก่เรานี้ ไม่แน่ใจว่าจะช่วยเราจริงหรือถ้าเข้าปากไปแล้วไก่ไม่ตีไก่โอกาสแพ้มีแน่นอน เพราะฉะนั้นการเลี้ยงไก่ไว้ชนนี้เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งไก่ พร้องทั้งคน ไม่ใช่คนพร้อมแล้ว แต่ไก่ยังไม่พร้อมเราก็อย่าเพิ่มเอาไก่ออกชนเป็นเด็ดขาด อย่าไปเก่งกว่าไก่เป็นอันขาด ไก่จะพร้อมหรือไม่พร้อมอยู่ที่ความสมบูรณ์ของไก่ เจ้าของไก่เท่านั้นจะรู้ว่าไก่สมบูรณ์หรือไม่ อย่าไปเก่งกว่าไก่เป็นอันขาด วันนี้เราชนไม่ได้ เอาไว้ชนวันอื่นก็ได้ บางคนถือว่าวันนี้ออกจากบ้านต้องชนให้ได้ กลัวไก่ค้างนัดบ้าง ขี้เกียจเลี้ยงต่อบ้าง เล็กกว่าก็ชนให้บ้าง ส่วนมากมักจะเป็นอย่างนั้น คือเก่งกว่าไก่ว่างั้นเถอะ ผลปรากฏว่าแพ้เกือบทุกทีไป เพราะฉะนั้นเราอย่าไปเก่งเกินไก่เป็นอันขาด ชนไม่ได้ก็ไม่ต้องชนกลับบ้านไป หรือยังไม่ได้เสียเงินไม่สบายใจ ก็หาเล่นไก่ของคนอื่นต่อไปก็ได้ อย่าไปคิดว่าต้องอยู่ชนไก่ให้ได้ จะทำให้เราเสียเงินเปล่า ๆ


โรคไก่และการป้องกัน

โรคระบาดไก่
ในการเลี้ยงไก่ให้ประสบผลสำเร็จนั้น ต้องเลี้ยงไก่ให้มีสุขภาพดี สมบูรณ์ แข็งแรง จึงจะให้ผลผลิตสูง ดังนั้นเราต้องรู้จักโรคและการป้องกันโดยถือหลักว่า "กันไว้ดีกว่าแก้" โดยทั่วไปแล้วโรคที่มักจะทำความเสียหายให้กับการเลี้ยงไก่ ได้แก่
  • โรคนิวคาสเซิล เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงที่สุดของไก่ในประเทศไทย เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การแพร่ะระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยการหายใจเอาเชื้อ หรือกินน้ำ อาหารที่มีเชื้อปนเข้าไป จากอุจจาระ น้ำมูก น้ำลาย และสิ่งขับถ่ายอื่นๆ ของไก่ป่วย ไก่ที่ป่วยจะมีอาการทางระบบหายใจและระบบประสาท เช่น หายใจลำบาก มีเสียงดังเวลาหายใจ มีน้ำมูกไหล หัวสั่น กระตุก ขาและปีกเป็นอัมพาต คอบิด เดินเป็นวงกลม หัวซุกใต้ปีก สำหรับแม่ไก่ที่กำลังให้ไข่จะไข่ลดลงทันที่ และมักจะตายภายใน 3-4 วัน หลังจากแสดงอาการป่วย
    การป้องกัน โดยการทำวัคซีนลาโซตาเชื้อเป็น และลาโซตาเชื้อตาย ดูวิธีการใช้จากตารางการทำวัคซีนท้ายเล่ม
  • โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ เป็นโรคทางเดินหายใจที่แพร่หลายที่สุด เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถเกิดขึ้นได้กับไก่ทุกอายุ แต่มักจะมีความรุนแรงในลูกไก่ มีอัตราการตายสูงมาก ไก่ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการ อ้าปากและโก่งคอเวลาหายใจ หายใจลำบาก เวลาหายใจมีเสียงครืดคราดในลำคอ ไอ น้ำมูกไหล ตาแฉะ เซื่องซึม เบื่ออาหาร ในไก่จะไข่ลดลงอย่างกะทันหัน
    การป้องกัน โดยการทำวัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบ
  • โรคอหิวาต์ไก่ เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกายทางอาหารและน้ำ ไก่ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการหงอย ซึม เบื่ออาหาร กระหายน้ำจัด ท้องร่วง อุจจาระมีสีเหลือง เหนียงมีสีคล้ำกว่าปกติ ถ้าไก่เป็นโรคนี้อย่างร้ายแรง ไก่อาจตายโดยไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น
    การรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะ คลอเตตร้าซัยคลิน หรือออกซีเตตร้าซัยคลิน หรือใช้ยาประเภทซัลฟา เช่น ซัลฟาเมอราซีน หรือซัลฟาเมทธารีน
    การป้องกัน โดยการให้วัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์
  • โรคฝีดาษไก่ เป็นโรคที่มักเป็นกับลูกไก่และไก่รุ่น ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อกันโดยการสัมผัส เช่น อยู่รวมฝูงกัน และยุงเป็นพาหะของโรคกัด โรคนี้ไม่แสดงอาการป่วยถึงตาย ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการมีจุดสีเทาพองตามบริเวณใบหน้า หงอน เหนียง และผิวหนัง และเมื่อจุดพองขยายตัวและแตกออกเป็นสะเก็ดลูกไก่จะหงอยซึม ไม่กินอาหารและตายในที่สุด
    การป้องกัน โดยการทำวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษไก่
  • โรคหวัดติดต่อหรือหวัดหน้าบวม เป็นโรคทางเดินหายใจมักเกิดกับไก่รุ่นและไก่ใหญ่ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปะปนอยู่ในเสมหะ น้ำมูก และน้ำตาของไก่ป่วย ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว โดยมีอาการจาม มีน้ำตา น้ำมูกอยู่ในช่องจมูกและเปียกเปรอะถึงปาก และมีกลิ่นเหม็น เมื่อเป็นรุนแรง ตาจะแฉะจนปิด หน้าบวม เหนียงบวม ไก่กินอาหารน้อยลง ไก่ที่กำลังให้ไข่จะไข่ลด
    การรักษา โดยใช้ยาพวกซัลฟา ได้แก่ ซัลฟาไธอาโซล ซัลฟาไดเมท๊อกซิน ส่วนยาปฏิชีวนะ ได้แก่ ออกซี่เตตร้าซัยคลิน อิริโธมัยซิน และสเตรปโตมัยซิน
    การป้องกัน การจัดการสุขาภิบาล และการเลี้ยงดูที่ดี การถ่ายเทอากาศในโรงเรือนที่ดี และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหวัดหน้าบวม
  • โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ
    เป็นโรคทางเดินหายใจ มักเป็นกับไก่ใหญ่ อายุ 3-4 เดือนขึ้นไป ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการหายใจไม่สะดวก ยื่นคอและศีรษะตรงไปข้างหน้า อ้าปากเป็นระยะๆ และหลับตา ไก่จะตายเพราะหายใจไม่ออก
    การป้องกัน การจัดการสุขาภิบาลที่ดี และป้องกันไม่ให้ลมโกรก และการให้วัคซีนป้องกันโรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ
  • โรคมาเร็กซ์ เป็นโรคที่มักเป็นกับไก่รุ่น ไก่สาว ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ที่สะสมอยู่ที่หนังไก่บริเวณโคนขนของไก่ป่วยเป็นแผ่นเล็กๆ คล้ายขี้รังแค ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการหงอยซึม การเจริญเติบโตไม่ได้ขนาด ในกรณีที่เป็นอัมพาต ไก่จะอ่อนเพลีย กินน้ำกินอาหารไม่ได้ การทรงตัวไม่ปกติ เดินขาลาก แล้วเป็นอัมพาตเดินไม่ได้
    การป้องกัน การสุขาภิบาล และการเลี้ยงดูที่ดีไม่ให้ไก่เครียด และการให้วัคซีนป้องกันโรคมาเร็กซ์
  • ข้อปฏิบัติ 10 ข้อในการควบคุม-ป้องกันโรคระบาดไก่
    1. หยอดหรือฉีดวัคซีน หรือแทงปีก เป็นประจำตามโปรแกรมการให้วัคซีน
    2. คอก เล้า หรือโรงเรือนเลี้ยงไก่ ตั้งอยู่บริเวณที่ดี มีลักษณะและขนาดเหมาะสมกับจำนวนไก่ สามารถป้องกันสัตว์พาหะนำโรค เช่น นกกระจอก นกพิราบ อีกา สัตว์ปีกชนิดอื่นๆ หนู สุนัข แมว และสัตว์ชนิดอื่นๆ
    3. ให้น้ำสะอาด โดยเปลี่ยนน้ำให้ไก่กินอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ทำความสะอาดรางน้ำ รางอาหาร และภาชนะใส่อาหารเสมอๆ
    4. ทำความสะอาดคอก เล้า หรือโรงเรือนเป็นประจำ รวมทั้งบริเวณล้อมรอบ อย่าให้มีแอ่งน้ำสกปรก ต้องมีน้ำยาฆ่าเชื้อโรคสำหรับจุ่มเท้าก่อนเข้า
    5. ป้องกันเชื้อโรคจากภายนอก เช่น ไม่นำไก่จากแหล่งที่เป็นโรค หรือสงสัยว่าเป็นโรค หรือไม่ทราบแหล่ง เข้ามาในฟาร์มและรวมในฝูงทันที
    6. ถ้าจะนำไก่จากแหล่งภายนอกมาเลี้ยง ต้องขังไก่แยกกักกันโรคไว้อย่างน้อย 15 วัน เพื่อดูอาการให้แน่ใจก่อนว่าไก่ไม่เป็นโรคแน่นอนจึงนำเข้ามาเลี้ยงรวมฝูงได้
    7. ไก่ป่วยต้องแยกออกจากฝูงแล้วทำการรักษาโรคทันที ถ้ารักษาไม่ได้ผลต้องคัดออกทิ้งและทำลาย เพื่อป้องกันการแพร่โรคในฝูง
    8. เมื่อเกิดโรคระบาดต้องทำลายไก่ป่วยและซากไก่ตายด้วยการฝังลึกไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร โรยด้วยปูนขาว แล้วกลบดินทับปากหลุม หรือเผา นำวัสดุรองพื้นออกมาเผา ทำความสะอาดรางน้ำ รางอาหาร ภาชนะใส่อาหาร อุปกรณ์ต่างๆ พ่นภายใน ภายนอก และบริเวณรอบๆ คอก เล้า หรือโรงเรือนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และพักการเลี้ยงไก่ไว้ระยะหนึ่ง อย่าทิ้งซากไก่ลงในแม่น้ำลำคลอง อย่าให้น้ำที่ใช้ทำความสะอาดไหลลงแม่น้ำลำคลอง จะทำให้โรคแพร่ระบาดไปยังแหล่งอื่น และแจ้งเจ้าหน้าที่ราชการโดยเร็วที่สุด
    9. ให้ยาบำรุง วิตามิน และแร่ธาตุ ละลายน้ำให้ไก่กินในสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน หรือช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ซึ่งมักเป็นสาเหตุทำให้ไก่เครียด และติดโรคได้ง่ายที่สุด ควรให้กินติดต่อกันอย่างน้อย 3 วัน
    10. ปรึกษาสัตวแพทย์ในท้องที่เพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้อง


การให้วัคซีนสำหรับไก่

วัคซีน สำหรับไก่
การเลี้ยงไก่ในบ้านเราจะไม่ให้ยุงกัดเลยย่อมทำไม่ได้ เพราะเป็นเมืองร้อนยุงมากจึงทำให้เป็นโรคฝีดาษอยู่กว้างขวางแห่งที่มีการเลี้ยงไก่ ดังนั้นการป้องกันโรคฝีดาษจึงจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องอาศัยวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษของกรมปศุสัตว์ วัคซีนชนิดนี้ให้ผลดีมากในการป้องกันโรคฝีดาษ การให้วัคซีนต้องให้เสียตอนที่ลูกไก่อายุได้ 7 วัน วัคซีนนี้ให้ครั้งเดียวก็พอ ไม่ต้องให้ซ้ำอีกเพราะไก่ที่โตเต็มที่แล้วจะต้านทานโรคนี้ได้ดี หลังจากให้วัคซีนลูกไก่แล้วควรป้องกันไม่ให้ยุงกัดเด็ดขาด โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ เนื่องจากยังไม่มียารักษาโรคหลอดลมอักเสบติดต่อได้ผลจริง ๆ การป้องกันที่ดีหรือให้ได้ผลดีจริง ๆ ต้องใช้วัคซีนป้องกันโรคนี้ของกรมปศุสัตว์ หยอดจมูกให้ลูกไก่หลังจากอายุ 15 วันไปแล้ว ให้หยอดตัวละ 2 หยด และควรหยอดวัคซีนซ้ำอีกครั้งหนึ่งเมื่อลูกไก่อายุได้ 4 - 5 เดือน
การใช้วัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิลที่ถูกต้องควรทำดังนี้
  1. เมื่อลูกไก่อายุ 2 - 5 วันให้หยอดจมูกลูกไก่ด้วยวัคซีน สเตรนเอฟ ตัวละ 1 หยด
  2. พอลูกไก่ได้ 3 อาทิตย์เต็ม ควรให้วัคซีนสเตรนเอฟหยอดซ้ำอีกตัวละ 2 หยด
  3. พอลูกไก่ได้ 8 อาทิตย์ ควรใช้วัคซีนเอมพีสเตรน แทงที่ผนังปีก จะคุ้มโรคได้ 1 ปี

การเลี้ยงไก่ให้ได้ผลดี

ในการเลี้ยงไก่พื้นเมืองที่จะให้ได้ผลผลิตดีนั้น มีสิ่งที่จะต้องคำนึงถึง ดังนี้
  1. โรงเรือนหรือเล้าไก่ ต้องมีโรงเรือนหรือเล้าให้ไก่นอน มีหลังคากันแดดกันฝนได้ ไม่ควรเลี้ยงไก่ไว้ใต้ถุนบ้าน เพราะนอกจากจะไม่ถูกสุขลักษณะแล้ว คนบนเรือนจะถูกไรไก่รบกวนอีกด้วย เกษตรกรสามารถทำเล้าไก่แบบง่าย ๆ ได้เอง โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ แฝก จาก ฯลฯ สถานที่ตั้งของเล้าไก่ ควรให้ห่างจากตัวบ้านพอสมควรและอยู่ในที่ดอนไม่ชื้นแฉะ ไม่ควรอยู่ใกล้ต้นไม้ เพราะไก่ชอบนอนบนต้นไม้จะไม่เข้าไปนอนในเล้า พื้นเล้าอาจจะปูด้วยแกลบหรือขี้เลื่อยหรือฟางแห้งหนาอย่างน้อย 4 ซ.ม. และต้องเปลี่ยนวัสดุรองพื้นทุก ๆ 3 เดือนให้หนาเท่าเดิมอยู่เสมอ
    เล้ากว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 2 เมตร เลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ได้ ประมาณ 30-40 ตัว
    เล้ากว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 1 เมตร เลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ได้ประมาณ 6-8 ตัว
    ควรมีกรงไก่ขนาดเล็กอีก 2 กรง คือ
    • กรงหรือสุ่มสำหรับเลี้ยงแม่ไก่กับลูกอ่อน 1 กรง
    • กรงหรือสุ่ม สำหรับเลี้ยงไก่เล็ก 1 กรง
  2. รางน้ำ ต้องมีรางน้ำสำหรับน้ำสะอาดให้ไก่กิน อาจใช้รางไม้ไผ่ผ่าครึ่งก็ได้
  3. รางอาหาร ควรมีรางสำหรับให้อาหารไก่ เพราะการให้ไก่จิกกินอาหารบนพื้นดินทำให้ไก่เป็นโรคพยาธิได้ง่าย
    ขนาดราง :
    ไก่ใหญ่ 10 ตัว ใช้รางยาว 1 เมตร
    ไก่รุ่น 10 ตัว ใช้รางยาว 50 เซนติเมตร
    ไก่เล็ก 10 ตัว ใช้รางยาว 20 เซนติเมตร
  4. รางใส่กรวดและเปลือกหอยป่นผสมเกลือป่น ไก่ทุกขนาดต้องกินกรวดและเปลือกหอยเพื่อนำไปสร้างกระดูกและเปลือกไข่ กรวดและเปลือกหอยต้องตั้งทิ้งไว้ให้กินตลอดเวลา
  5. รังไข่ ปกติแม่ไก่พื้นเมืองจะไข่ในรังไข่เมื่อไข่ได้ 10-12 ฟองจึงจะเริ่มฟักต้องมีจำนวนรังไข่เท่ากับจำนวนแม่ไก่ที่ไข่เพื่อไม่ให้ไก่แย่งกัน ขนาดรังไข่กว้างและยาว 1 ฟุต สูง 8 นิ้วฟุต หรือใช้เข่งก็ได้รองด้วยหญ้าหรือฟางแห้งให้ถึงครึ่งควรตั้งรังไข่ให้อยู่ในที่มิดชิด ไม่ร้อนเกินไป ฝนสาดไม่ถึง แต่แม่ไก่เดินเข้าออกสะดวก
  6. ม่านกันฝน ด้านที่ฝนสาดหรือแดดส่องมาก ๆ ควรมีม่านผ้าใบ กระสอบ หรือเสื่อเก่า ๆ ห้อยทิ้งไว้โดยเฉพาะมุมที่วางรังไข่
  7. คอนนอน สำหรับให้ไก่นอน ควรจะพาดไว้มุมใดมุมหนึ่งของเล้า คอนนอนควรเป็นไม้กลมดีกว่าไม้เลี่ยมซึ่งไก่จะจับคอนนอนได้ดีและเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลที่หน้าอกไก่อีกด้วย

เชิงไก่ชน

เชิงไก่ชน
  1. เชิงสาด ตีคู่ต่อสู้โดยไม่ต้องจิกหรือที่เรียกว่าสาดแข้งเปล่า
  2. เชิงเท้าบ่า เอาไหล่ชนกันแล้วยืดคอไปจิกบ่าคู่ต่อสู้แล้วตีเข้าท้องหรือหน้าอก
  3. เชิงลง มุดต่ำจิกขาจิกข้าง พอคู่ต่อสู้เผลอโดดขึ้นตี
  4. เชิงมัด มุดเข้าปีก โผล่ไปจิกหัว หู หรือสร้อย แล้วตีเข้าหัว คอ หรือตะโพก
  5. เชิงบน ใช้คอขี่พาด กด ล๊อค ทับ กอด ให้คู่ต่อสู้หลงตีตัวเอง เมื่อได้ทีจะจิกหู ด้านนอก หูใน หรือสร้อยแล้วตีเข้าท้ายทอย
  6. เชิงม้าล่อ หลอกคู่ต่อสู้วิ่งตาม พอได้ทีตีสวนกลับ
  7. เชิงตั้ง ยืนตั้งโด่ จิกสูงแล้วบินตี(เชิงนี้เสียเปรียบเชิงอื่น )
  8. เชิงลายชักลิ่ม เอาหัวหนุนคอหนุนคางคู่ต่อสู้ ลอกให้อีกฝ่ายกดลงแล้วชักหัวออก พอคู่ต้อสู้พลาดก็จิกหัวตี
ไก่เชิงนี้เป็นตัวปราบไก่เชิงบนขี้จุ้ยที่ขี่กอดทับแล้วไม่ตี ในจำนวน 8 เพลงท่านี้ แบ่งแยกได้อีก 15 กระบวนยุทธ คือ
  • เชิงเท้าบ่า แยกเป็น เท้าตีตัว เท้าจิกหลังกระปุกน้ำมัน
  • เชิงหน้าตรง แยกเป็น ตีหน้ากระเพาะ หน้าคอ หน้าหงอน
  • เชิงมัด แยกเป็น มัดโคนปีก มัดปลายปีก
  • เชิงลง แยกเป็น มุดลงจิกขาลงซุกซ่อน ลงลอดทะลุหลัง
  • เชิงบน แยกเป็น ขี่ ทับ กอด ล๊อค มัด
  • เชิงลายชักลิ่ม แยกเป็น ยุบหัว